ครั้งแรกของโลก ค้นพบวิธีรักษา โรคกระดูกพรุน-ข้อเสื่อม โดยไม่ต้องใช้ยา

ถือเป็นข่าวดีสำหรับในวงการแพทย์ของไทย และเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อม เมื่อนักวิจัยจากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบวิธีรักษาและยับยั้งโรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อม โดยไม่ต้องใช้ยารักษาได้เป็นครั้งแรกของโลกแถมยังมีคุณสมบัติเทียบเท่ายาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยผู้ค้นพบวิธีการรักษาและยับยั้งโรคกระดูกพรุน และข้อเสื่อมโดยไม่ต้องพึ่งพายา เปิดเผยว่า การค้นพบครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการคิดค้นวิธีการฟื้นฟูเรื่องเซลล์สมอง และการรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้สารเซซามีนที่สกัดมาจาดเมล็ดงาดำ โดยได้มีการนำสารเซซามีนที่สกัดได้มาทดลองรักษาโรคอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ผลการรักษาหรือฟื้นฟูสภาพร่างกายจากอาการเจ็บป่วย

ผลจาการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้ค้นพบว่าในระดับที่ลึกลงไปว่า สารเซซามีนสามารถรักษาโรคกระดูกพรุนได้เป็นอย่างดี  และมีการทดลองที่ได้ผลชัดเจนแล้ว การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลก เนื่องจากยังไม่มีที่ไหนได้ทดสอบและนำมาพิสูจน์อย่างจริงจังมาก่อน

ในอดีตจะเห็นว่า มีความเชื่ออย่างหนึ่งของคนโบราณ และวิธีการรักษาแบบหมอเมือง ที่นำน้ำมันงา มารักษาหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุ จนกระดูกหัก แล้วก็บอกว่าเป็นน้ำมันต่อกระดูก มีการเป่ามนต์คาถา เพื่อรักษา ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อนี้ ทำให้นักวิจัยนำมาทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการนำสารเซซามีนที่คิดค้นได้ จากงาทั้งหมด 3 ชนิด

คืองาดำ งาขาว และงาแดง เพื่อหาคุณสมบัติ กระทั่งพบว่า มีคุณสมบัติไม่แตกต่างกัน และเมื่อทดสอบในห้องปฏิบัติก็ทำให้รู้ว่า น้ำมันงาที่มีความเชื่อกันว่า สามารถรักษาโรคกระดูก หรือต่อกระดูกได้นั้น เป็นเรื่องจริง โดยน้ำมันงาจะซึมผ่านผิวหนังเพื่อเข้าไปช่วยในการฟื้นฟูกระดูกที่เสียหาย แต่ต้องใช้ระยะเวลาเพราะกระบวนการทำงานต้องดูดซึมผ่านรูขุมขน แต้ข้อพิสูจน์นี้ยังไม่มีใครค้นพบ

หลังจากได้ข้อมูลดังกล่าว นักวิจัยและคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาเอก ได้นำไปทดสอบด้วยการทำเซลล์สลายกระดูกขึ้นมา จากนั้นก็นำกระดูกวัวที่ไม่เป็นโรคมาทดสอบและนำเซลล์สลายกระดูกที่คิดค้นขึ้นมาใส่ลงไป ก็พบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยกระดูกวัวที่นำมาทดสอบเกิดเป็นรูพรุน คล้ายกับกระดูกของมนุษย์ที่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีเป็นโรคนี้ และผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย ซึ่งหญิงไทยเป็นโรคนี้สูง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบในอัตราส่วนประชากร 100 คน จะพบหญิงที่เป็นโรคนี้กว่า 10 คน หรือเกินกว่านั้น ในอายุที่สูงขึ้น

จากนั้นนักวิจัยได้ทดสอบต่อโดยนำสารสกัดเซซามีนใส่ลงไปในกระดูกวัวที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็พบว่าการเจริญเติบโตของเซลล์สลายกระดูกนั้นหยุดลง ส่วนการทดสอบครั้งที่สอง โดยการนำสารเซซามีนใส่ลงในกระดูกวัวก่อน แล้วใส่เซลล์สลายกระดูกลงไปทีหลัง ก็ไม่พบการเกิดโรคกระดูกพรุนขึ้นในกระดูก

ขณะเดียวกันเมื่อทดสอบกับหญิงชาวบ้านรายหนึ่งในพื้นที่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นโรคกระดูกพรุน ปรากฏว่า หลังจากทานสารสกัดจากงา ที่มีเซซามีนอยู่จำนวนมากเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ก็มีอาการดีขึ้น สามารถเดินได้เองและขยับร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว สวนอาการปวดตามร่างกายจากโรคกระดูกพรุนก็ทุเลาลง

รศ.ดร.ปรัชญา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแม้ว่าจะมียารักษาโรคกระดูกพรุน รวมทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัดรักษา แต่การรักษาด้วยตัวยาก็มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น โดยผู้ที่ทานยารักษาโรคกระดูกพรุน หลังกินยาจะต้องนั่งพักเป็นเวลา 3 – 4 ชั่วโมง จึงจะนอนได้ เพราะยามีผลข้างเคียงกับลำไส้ ส่วนผู้ที่ทานแคลเซียมเพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน ก็มีโอกาสที่แคลเซียมจะกระตุ้นให้กระดูกงอกจากแคลเซียมที่มีมากกว่าเซลล์สลายกระดูก และหากทานแคลเซียมมากเกินไป ก็เสี่ยงเป็นโรคกระดูกเปราะด้วย

ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกเทียม ข้อเข่าเทียม ก็มีราคาสูง และการใช้งานก็อยู่ได้เพียงไม่กี่ปีต้องกลับมาเปลี่ยนเพราะเสื่อมสภาพ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเมล็ดงา ที่ให้คุณค่าทางอาหารและเป็นยาตำรับโบราณที่ราคาไม่แพง อย่างไรก็ตามการทานเมล็ดงา ก็มีข้อจำกัดคือ ต้องทานแบบเป็นผง หากทานเป็นเมล็ดงาโดยตรงร่างกายจะดูดซึมสารเซซามีนได้น้อย จึงต้องทานอย่างถูกวิธีและต่อเนื่องจึงจะมีผลดีต่อร่างกาย

ขณะที่การค้นพบนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารของต่างประเทศมาแล้ว และสารเซซามีนที่ค้นพบยังมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับข้าวสีนิล ซึ่งในต่างประเทศนำมาสกัดเพื่อใช้ในการรักษาเรื่องโรคกระดูกพรุน รวมถึงมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับยารักษาโรคกระดูกพรุน และโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาชีวเคมี คณแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

MThai News